รู้จักวัฒนธรรมการทิ้งขยะในญี่ปุ่น แล้วจะทึ่งกับนิสัยความมีวินัย

ถ้าสังเกตให้ดีที่ญี่ปุ่นไม่ค่อยมีถังขยะให้เห็นทั่วไป  เพราะในญี่ปุ่นนั้นการแยกขยะ เป็นสิ่งที่มีการยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะไม่มีการทิ้งขยะลงในถังขยะก่อนที่จะจัดการแยกขยะ  แน่นอนว่ามีการออกเป็นกฎระเบียบ มีการระบุโทษหากไม่ปฏิบัติตาม แต่มากกว่าการมาตรการบังคับ สิ่งที่ทำให้การจัดการขยะในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จมาจากการยึดถือปฏิบัติจนเป็นวัฒนธรรมด้วยพื้นฐานของความมีวินัย

ที่ญี่ปุ่นนั้นการแยกขยะ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการขยะ จึงแยกขยะประเภทต่างๆ ดังนี้

ขยะเผาได้(burnable garbage/ combustible) คือ ขยะจากในครัว (ขยะเศษอาหาร) และขยะเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ในชีวิตประจำวัน ต้องมีขนาดไม่ใหญ่เกินไป คือ ต้องบรรจุลงได้ในถุงพลาสติกเนื้อหนา ขนาด 2 ลิตร หรือ 3 ลิตร ซึ่งเป็นถุงขยะมาตรฐานที่รัฐหรือเทศบาลญี่ปุ่นกำหนดใช้ทั่วประเทศ

ขยะเผาไม่ได้(unburnable garbage/incombustible) ก็คือ พวกขวดแก้ว ภาชนะแก้ว กระป๋องเครื่องดื่ม กระป๋องบรรจุอาหาร ขวดพลาสติกทั้งชนิดบาง และพลาสติกหนา ของใช้ที่ทำจากยาง เครื่องหนัง

ขยะประเภทที่สาม คือ ขยะขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือน ที่นอนหมอนมุ้ง ไปจนถึงรถจักรยาน จักรเย็บผ้า

ขยะมีพิษหรือขยะอันตราย เช่น พวกภาชนะบรรจุสารเคมีที่เป็นพิษ ขยะติดเชื้อ (ขยะโรงพยาบาล) กระป๋องที่มีหัวฉีดแบบสเปรย์ ซึ่งอาจระเบิดได้ ของมีคม เช่น มีด เศษแก้ว

ขยะที่ต้องแจ้งหน่วยงานพิเศษของรัฐหรือเทศบาลให้มาเก็บ หรือนำไปส่งที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่น คอมพิวเตอร์และวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องดนตรีขนาดใหญ่ รถจักรยานยนต์ และซากสัตว์ ฯลฯ

นอกจากมีการแยกขยะอย่างชัดเจนแล้วยังมีการกำหนดวันเวลาที่รถเก็บขยะจะมารับขยะแต่ละประเภทไปกำจัดด้วย  โดยจะกำหนดไว้แน่นอนชัดเจนและตายตัว ในเอกสารประชาสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่สำหรับคนที่เข้ามาอยู่ใหม่ในพื้นที่จะได้รับแจกตะกร้าพลาสติกสองใบ สีเขียวและฟ้า และคูปองขนาดโปสการ์ดหนึ่งใบ สำหรับไปแลกถุงขยะฟรีจากร้านค้าในบริเวณที่พักอาศัยของแต่ละบ้าน โปสการ์ดหนึ่งใบ แลกถุงขยะได้ 104 ถุง ถ้าบ้านไหนมีขยะมาก ก็ต้องหาซื้อถุงขยะมาเพิ่มเอง  รถเก็บขยะในพื้นที่แต่ละพื้นที่จะมาเก็บตามวันตามเวลา ไม่มีล่าช้า ไม่มีวันหยุดพักผ่อนใดๆ ทั้งสิ้น

ที่ญี่ปุ่นยังมี กิจกรรมเก็บขยะประเภท สิ่งที่เจ้าของไม่ต้องการ จำพวกของเก่าที่คุณภาพดี เช่น เครื่องไฟฟ้าขนาดย่อม ประเภท เตาปิ้งขนมปัง วิทยุ เครื่องเสียงขนาดเล็ก พัดลม หม้อหุงข้าว เตาแก๊ส รวมทั้งเครื่องเรือน อาทิ เก้าอี้ โต๊ะ ชั้นวางของ วางหนังสือ  ในวันพฤหัสบดีที่สองและที่สี่ของเดือน จะเป็นวันเก็บขยะใหญ่ (incombustible) และขยะเผาไม่ได้ (unburnable)  เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องเรือนที่ยังมีสภาพดีหรือค่อนข้างดี จะวางทิ้งไว้ล่วงหน้าก่อนวันเก็บขยะใหญ่ประจำฤดู สักสองสามวัน และคนที่อยากจะได้ของใช้ จะมาเลือกขนเอาไปใช้ได้

หลักการในการแยกขยะและการสร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะ ประสบความสำเร็จมากในญี่ปุ่น  แม้ว่าการทิ้งขยะที่ญี่ปุ่นนั้นจะมีความซับซ้อนและระเบียบมากมายก็ตามแต่คนญี่ปุ่นต่างมองว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคน

Cleanatic
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.