การทำความสะอาดและสุขอนามัยในโรงงานอาหารและยา
สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งผลิตของอาหารและยานั้น แน่นอนว่าการควบคุมความสะอาดและปลอดภัยในไลน์การผลิตยิ่งต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ส่งต่อไปยังผู้บริโภคจะสะอาด ปลอดภัย และปราศจากสิ่งปลอมปนทั้งหลายทั้งปวง จึงต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แต่ละโรงงานนั้นต้องปฏิบัติตามเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกันทางด้านความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่าสินค้าที่พวกเขาได้รับมีมาตรฐานการผลิตที่เดียวกันกับทุกโรงงาน
โดยการที่จะสร้างความปลอดภัยให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในโรงงานนั้น สิ่งที่จำเป็นคือการควบคุมความสะอาด นั่นก็จะหมายถึงการทำความสะอาดอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมีเครื่องมือในการทำความสะอาดอย่างครบครัน ทั้งเครื่องมือสำหรับการรักษาความสะอาดของพื้นที่และเครื่องมือสำหรับการรักษาความสะอาดของผู้ปฏิบัติงาน ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่าหลักเกณฑ์สำคัญที่โรงงานผู้ผลิตอาหารและยาต้องรักษามาตรฐานคืออะไร และคุณสมบัติของเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับทำความสะอาดและรักษาสุขอนามัยในโรงงานนั้นมีอะไรบ้าง
หลักเกณฑ์มาตรฐาน GMP สำหรับการผลิตอาหารและยา
Good Manufacturing Practice หรือ GMP คือ หลักเกณฑ์มาตรฐานที่ดีของการผลิตอาหารที่จำเป็นในการควบคุมการผลิต เพื่อให้อาหารผลิตออกมาได้อย่างปลอดภัยต่อผู้บริโภค เป็นระบบประกันคุณภาพที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำให้อาหารที่ผลิตเกิดความปลอดภัย และมีคุณภาพ โดยหลักการของ GMP จะอาศัยหลายปัจจัยเชื่อมโยงกัน โดยเกี่ยวข้องตั้งแต่สถานที่ตั้งและอาคารผลิต เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิต การควบคุมกระบวนการผลิต การสุขาภิบาล การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด และการควบคุมดูแลบุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งไปถึงยังมือของผู้บริโภคนั้นมีความปลอดภัยสูงสุด และเป็นระบบประกันคุณภาพเบื้องต้นที่สำคัญต่อการมาตรฐานระบบประกันคุณภาพอื่น ๆ อย่างเช่น HACCP และ ISO 9000 โดยประเภทของ GMP นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
- General GMP ซึ่งก็คือ GMP สุขลักษณะทั่วไปที่นำไปปรับใช้กับอาหารทุกประเภท
- Specific GMP ซึ่งเป็น GMP ที่ปรับใช้กับบางผลิตภัณฑ์เพื่อมุ่งเน้นความสะอาดและปลอดภัยต่ออาหารชนิดนั้น ๆ ให้มากขึ้น เช่น น้ำดื่ม
ในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมอาหารและยา (อย.) ของไทยได้นำเอาหลักเกณฑ์ของ GMP มาบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยกำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) พ.ศ. 2543 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษา ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่โรงงานผู้ผลิตอาหารและยาจะหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปนเปื้อนในโรงงานอาหารและยา
สิ่งที่ทำให้เกิดการปนเปื้อนในโรงงานเหล่านี้มีสาเหตุหลัก ๆ มาจากสองแหล่งด้วยกัน ได้แก่ การปนเปื้อนจากวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการปนเปื้อนของวัตถุหลัก ๆ ที่นำมาใช้ผลิตซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละโรงงาน เช่น เกลือ น้ำตาล ไขมัน ฝุ่นแป้ง โปรตีน น้ำมัน ตะไคร่หรือรา ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง คือ การปนเปื้อนที่มาจากเครื่องมือหรืออุปกรณ์ในโรงงาน เช่น สี ยาง พลาสติก สเตนเลสสตีล อะลูมินัม หรือซิงค์
คุณสมบัติที่ดีของน้ำยาทำความสะอาดในโรงงาน
- ใช้งานน้ำยาทำความสะอาดให้เหมาะสมกับการทำความสะอาดในพื้นที่เฉพาะ เช่น น้ำยาสำหรับทำความสะอาดพื้น หรือน้ำยาสำหรับทำความสะอาดผนัง
- ราคาของน้ำยาทำความสะอาดต้องมีความเหมาะสม เนื่องจากโรงงานนั้นมีพื้นที่กว้างจึงต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพเพียงพอโดยสามารถใช้ในปริมาณน้อย แต่ทำความสะอาดได้ดี เพราะจะช่วยให้ผู้ผลิตประหยัดต้นทุนในส่วนของการทำความสะอาดได้ด้วย
- สามารถใช้ล้างพื้นผิวของเครื่องมือ เครื่องจักรได้ดี โดยที่ไม่ทิ้งคราบสกปรก หรือสารตกค้างเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ที่ผลิต
- ต้องไม่กัดกร่อน หรือทำปฏิกิริยาใด ๆ กับเครื่องมือในโรงงานจนทำให้เครื่องเกิดสนิม
- ไม่เสื่อมสภาพง่ายหลังจากเปิดใช้งานหรือวางทิ้งไว้